Tuesday, December 8, 2015

การรับรองระบบตรวจสอบสารพิษตกค้างในผักสด / ผลไม้สด

 
ข้อกำหนดและเงื่อนไข
การรับรองระบบตรวจสอบสารพิษตกค้างในผักสด / ผลไม้สด
 
1. ขอบข่ายการรับรอง
รับรองผู้ประกอบการจำหน่ายผักสด ผลไม้สด ซึ่งมีแหล่งวัตถุดิบจาก
1.1 รับซื้อจากผู้ประกอบการธุรกิจ หรือเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร
1.2 มีแหล่งปลูกเอง
1.3 นำเข้าจากต่างประเทศ
1.4 กรณีที่เป็นตลาดต้องมีสถานที่จำหน่ายชัดเจน

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจะต้องแสดงหลักฐานสถานที่ตั้ง/ที่จำหน่าย
2. นิยาม
2.1 ระบบตรวจสอบสารพิษตกค้าง ในผักสด ผลไม้สด หมายถึงระบบที่มีการบริหารจัดการตั้งแต่โครงสร้างขององค์การ หน้าที่ความรับผิดชอบ วิธีดำเนินการ กระบวนการและทรัพยากร สำหรับนำไปสู่การปฏิบัติการตรวจสอบสารพิษตกค้าง
2.2 การรับรองระบบตรวจสอบสารพิษตกค้าง หมายถึง การรับรองว่า ผู้ประกอบการสามารถดำเนินการตรวจสอบสารพิษตกค้างในผักสด ผลไม้สด ที่จำหน่ายได้อย่างเป็นระบบ และสามารถทวนสอบได้
2.3 คณะกรรมการ หมายถึง คณะกรรมการรับรองระบบคุณภาพห้องปฏิบัติการ ตามนโยบายข้อกำหนด เงื่อนไขของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
2.4 ผักสด ผลไม้สด หมายถึง ผักสด ผลไม้สด ที่มีไว้เพื่อการจำหน่าย หรือเพื่อวัตถุประสงค์ในการนำไปแปรรูป
2.5 สารพิษตกค้าง หมายถึง สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในกลุ่มสารประกอบออร์กาโนฟอสเฟต และ/หรือคาร์บาเมท และ/หรือ ไพเรทรอยด์ และ/หรือ ออร์กาโนคลอรีน และ/หรือสารพิษอื่นที่ตกค้างมาในผักสด ผลไม้สด
2.6 ความปลอดภัยจากสารพิษตกค้างหมายถึง
   2.6.1 ระดับปริมาณตกค้างรวมของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช กลุ่มสารประกอบออร์กาโนฟอสเฟต และ/หรือสารคาร์บาเมท และ/หรือไพเรทรอยด์ และ/หรือออร์กาโนคลอรีนและ/หรือสารพิษอื่นที่ตกค้างในผักสด ผลไม้สด
   2.6.2 ระดับปริมาณการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในผักสด ผลไม้สด ไม่เกินค่ามาตรฐานกำหนดในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 288 (พ.ศ.2548) ว่าด้วยมาตรฐานสารพิษตกค้าง หรือไม่เกินค่ากำหนดของคณะกรรมาธิการอาหารระหว่างประเทศ (Codex) กรณีประกาศกระทรวงสาธารณสุขมิได้กำหนดค่าไว้ ซึ่งมีวิธีการตรวจสอบที่เป็นวิธีมาตรฐาน หรือดัดแปลงจากวิธีมาตรฐานที่มีการตรวจสอบความถูกต้องของวิธี (Method Validation) ไว้แล้ว หรือเป็นวิธีที่คณะผู้ตรวจประเมินพิจารณายอมรับได้
2.7 วิธีการตรวจสอบสารพิษตกค้าง หมายถึง การตรวจสอบที่เป็นวิธีมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับของ Codex หรือดัดแปลงจากวิธีมาตรฐาน ที่มีการตรวจสอบความถูกต้องของวิธี (Method Validation) ไว้แล้ว หรือวิธีการที่พัฒนาโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือเป็นวิธีที่คณะผู้ตรวจประเมินพิจารณายอมรับได้
2.8 มีผลการเข้าร่วมในกิจกรรมการควบคุมคุณภาพโดยองค์กรภายนอกหรือการทดสอบความชำนาญ
3. คุณสมบัติของผู้ขอรับรอง
      มีสถานที่ทำการถาวรและเป็นนิติบุคล
4. ข้อกำหนดทั่วไป
4.1  ผู้ลงนามในเอกสารขอรับการรับรอง ต้องเป็นผู้บริหารระดับสูงสุดขององค์กร หรือผู้รับมอบอำนาจ
4.2 มีนโยบายสนับสนุนระบบตรวจสอบสารพิษตกค้างในผักสด/ผลไม้สด
4.3 ต้องยินยอมปฏิบัติตามข้อกำหนดและเงื่อนไขการรับรองตามที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กำหนด
4.4 ต้องส่งเอกสารแสดงรายละเอียดระบบคุณภาพและวิธีดำเนินงานทั้งหมด ให้สำนักมาตรฐาน ห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พิจารณาภายใน 30 วัน นับจากวันที่ยื่นขอการรับรอง
4.5 ยินยอมให้คณะผู้ตรวจประเมิน เข้าไปในสถานปฏิบัติการและส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจประเมิน และในระหว่างที่ได้รับการรับรอง ยินยอมให้คณะผู้ตรวจประเมินเข้าไปตรวจสอบเพื่อการ เฝ้าระวังได้
5. ข้อกำหนดด้านบริหารคุณภาพและวิชาการ
5.1 องค์กรและการบริหาร
    5.1.1 มีผู้รับผิดชอบสูงสุดของห้องปฏิบัติการและมีผู้จัดการคุณภาพ (QM) หรือคณะกรรมการบริหารคุณภาพในการบริหารจัดการ รวมทั้งด้านบุคลากรและทรัพยากรที่จำเป็นในการปฏิบัติการทดสอบ และสามารถดำเนินการติดต่อผู้บริหารระดับสูงสุดขององค์กรที่มีอำนาจตัดสินใจ
    5.1.2 กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่การบริหารจัดการห้องปฏิบัติการ กระบวนการตรวจวิเคราะห์ การสุ่มและเตรียมตัวอย่างทุกขั้นตอน รวมทั้งระบบการรายงานผล และจัดทำเป็นเอกสารไว้
    5.1.3 เจ้าหน้าที่ตรวจวิเคราะห์ต้องผ่านการฝึกอบรมจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้ หรือผ่านการอบรมต่อจากผู้ควบคุมงาน และต้องได้รับการประเมินมอบหมายให้ทำหน้าที่ตรวจวิเคราะห์ เจ้าหน้าที่ตรวจวิเคราะห์ต้องดำเนินการวิเคราะห์ตามวิธีที่ระบุในคู่มือวิธี การตรวจวิเคราะห์
    5.1.4 มีการควบคุมงาน โดยบุคคลที่รู้วิธีดำเนินการ และจัดสัดส่วนของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานต่อจำนวนตัวอย่างวิเคราะห์ที่สามารถ ดำเนินการได้ โดยผู้ควบคุมงานเป็นผู้ที่มีคุณวุฒิ ความรู้และประสบการณ์เหมาะสม
    5.1.5 มีการมอบหมายผู้ปฏิบัติงานแทนในกรณีที่ผู้ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการทดสอบ ไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติงานได้ โดยจัดทำไว้เป็นเอกสาร
    5.1.6 ห้องปฏิบัติการต้องแสดงตำแหน่งของพื้นที่ใช้สอยในกระบวนการตรวจสอบ ตั้งแต่การสุ่มและเตรียมตัวอย่าง การตรวจวิเคราะห์ จนถึงการรายงานผล พร้อมแผนภูมิ
    5.1.7 มีผลการเข้าร่วมในกิจกรรมการควบคุมคุณภาพโดยองค์กรภายนอกหรือการทดสอบความชำนาญ
5.2 บุคลากร
    5.2.1 ห้องปฏิบัติการต้องมีบุคลากรเพียงพอ มีคุณวุฒิที่เหมาะสม ได้รับการฝึกอบรม และมีประสบการณ์เหมาะสมกับงานที่ได้รับมอบหมาย
    5.2.2 มีการบันทึก และจัดเก็บเอกสารรายละเอียดคุณวุฒิ และการฝึกอบรมของบุคลากร ที่เกี่ยวข้องกับรายการทดสอบที่ได้รับมอบหมาย
5.3 ระบบเอกสาร
    5.3.1 มีการจัดทำระบบบริหารคุณภาพและวิชาการเป็นเอกสารคุณภาพ โดยกำหนดโครงสร้างของเอกสารคุณภาพให้เหมาะสม เช่น
           - คู่มือคุณภาพที่ระบุโครงสร้างขององค์กร นโยบายการบริหารคุณภาพและวิชาการ และอ้างถึงมาตรฐานการปฏิบัติงาน (SOP) ที่เกี่ยวข้อง
           - มาตรฐานการปฏิบัติงานที่ใช้ในระบบบริหารคุณภาพ เช่น การจัดซื้อและการใช้บริการภายนอกรับเหมาช่วง เป็นต้น และมาตรฐานการปฏิบัติงานด้านวิชาการ เช่น มาตรฐานการปฏิบัติงาน วิธีทดสอบต่างๆ การใช้และบำรุงรักษาเครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับรายการทดสอบแต่ละเรื่อง และการบริหารจัดการตัวอย่าง ฯลฯ
           - แบบฟอร์มที่ใช้บันทึกการปฏิบัติงานตามมาตรฐานการปฏิบัติงาน
           - เอกสารภายนอก เช่น คู่มือประจำเครื่องมือวิทยาศาสตร์ เอกสารวิธีการทดสอบ เป็นต้น
   5.3.2 มีวิธีการดำเนินการควบคุมเอกสารในระบบบริหารจัดการ เพื่อให้มั่นใจว่าเอกสารด้านคุณภาพมีการทบทวนและอนุมัติโดยผู้ได้รับมอบ อำนาจ มีการทบทวนปรับปรุง เพื่อให้เหมาะสมกับการปฏิบัติงานจริง และมีวิธีดำเนินการและควบคุมกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารอย่างเป็น ระบบ รวมทั้งมีบัญชีรายชื่อที่แสดงถึงเอกสารคุณภาพฉบับล่าสุดซึ่งเพียงพอสำหรับ ผู้ปฏิบัติงาน
   5.3.3 ต้องจัดทำเอกสารวิธีดำเนินการตามข้อกำหนดต่อไปนี้
           5.3.3.1 การบริหารจัดการตัวอย่าง มีการบ่งชี้ตัวอย่าง พร้อมบันทึกรายละเอียด เพื่อให้สามารถสอบกลับได้ และวิธีดำเนินการเพื่อรักษาสภาพของตัวอย่างให้เหมาะสมในทุกขั้นตอน
           5.3.3.2 การสุ่มและเตรียมตัวอย่าง โดยระบุหลักเกณฑ์การสุ่มตัวอย่างและอ้างอิงแหล่งที่มาทางสถิติที่เหมาะสม เช่น จำนวนตัวอย่างต่อรุ่นการผลิต ปริมาณที่สุ่ม วิธีการเตรียมตัวอย่าง และบันทึกเป็นเอกสารให้ตรวจสอบได้
           5.3.3.3 วิธีทดสอบ ให้ระบุชนิดตัวอย่างและรายละเอียดวิธีที่ใช้
           5.3.3.4 วิธีการใช้และการบำรุงรักษาเครื่องมือที่มีผลกระทบต่อการทดสอบ
           5.3.3.5 การบันทึก และการจัดเก็บเอกสาร ต้องระบุวิธีการบันทึก ระยะเวลาการจัดเก็บอย่างน้อย 2 ปี และ/หรือตามที่กฎหมายกำหนด ให้จัดทำแบบฟอร์มบันทึกรายงานผลเป็น ลายลักษณ์อักษรด้วยหมึก ห้ามใช้ดินสอบันทึก กรณีแก้ไขให้ขีดฆ่าข้อความ พร้อมลงนามกำกับ ห้ามใช้น้ำยาลบคำผิด
5.4 วิธีทดสอบ ต้องเลือกจากวิธี ดังนี้
    5.4.1 วิธีมาตรฐานตามกฎหมายสำหรับการแสดงคุณภาพผลิตภัณฑ์
    5.4.2 วิธีมาตรฐานซึ่งเป็นที่ยอมรับของสากล
    5.4.3 วิธีของชุดทดสอบ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
    5.4.4 วิธีอื่น ๆ ที่มีข้อมูลแสดงกระบวนการพิสูจน์ความถูกต้องของวิธี โดยมีค่าความไวและความจำเพาะสามารถตรวจชนิด / ปริมาณได้ครอบคลุมค่ามาตรฐานตามวัตถุประสงค์
วิธีทดสอบทุกกรณีดังกล่าวข้างต้น หากห้องปฏิบัติการดัดแปลงจากวิธีมาตรฐาน หรือพัฒนาขึ้นเองต้องมีข้อมูลแสดงกระบวนการพิสูจน์ความถูกต้องของผลการทดสอบ และบันทึกรายละเอียดของวิธีที่ใช้เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างครบถ้วนชัดเจน
5.5 สถานที่และสภาวะแวดล้อม
มีขนาดและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม มีวิธีมาตรฐานการปฏิบัติงาน เรื่องความปลอดภัยห้องปฏิบัติการ และมีพื้นที่จัดวางเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่จำเป็นในการทดสอบอย่างเหมาะสม
5.6 เครื่องมือวิทยาศาสตร์
    5.6.1 ห้องปฏิบัติการมีอุปกรณ์ และเครื่องมือที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับการทดสอบ
    5.6.2 มีการตรวจสอบดูแลการทำงานของเครื่องมืออุปกรณ์อย่างสม่ำเสมอให้พร้อมใช้งาน
5.7 การบันทึก
    5.7.1 มีระบบบันทึกข้อมูลที่เหมาะสมกับงานที่ปฏิบัติ และเป็นไปตามระเบียบที่วางไว้ โดยเอกสารต่าง ๆ ได้แก่ การสุ่มตัวอย่าง การเตรียมตัวอย่าง การรายงานผล เป็นต้น ระบุชื่อผู้ปฏิบัติงาน วันที่ และรายละเอียดของข้อมูลที่บันทึกให้เพียงพอในทุกขั้นตอน เพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้
    5.7.2 จัดเก็บบันทึกทั้งหมดในที่เหมาะสม โดยระบุสถานที่จัดเก็บ และจัดเก็บไว้เป็นหลักฐานในช่วงระยะเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี และ/หรือตามที่กฎหมายกำหนด
5.8 การใช้บริการ (ภายนอก) รับเหมาช่วงการทดสอบ
    5.8.1 การจ้างเหมาช่วงสำหรับการทดสอบ ห้องปฏิบัติการที่รับเหมาช่วง จะต้องมีการปฏิบัติตามข้อกำหนด และเงื่อนไขการรับรองฉบับนี้ และสามารถแสดงได้ว่ามีความสามารถรับช่วงการตรวจสอบได้
    5.8.2 การใช้บริการภายนอก ต้องมีบันทึกและเก็บรักษารายละเอียดเกี่ยวกับการตรวจสอบของผู้ให้บริการภายนอกทั้งหมด
5.9 การจัดซื้อและการใช้บริการภายนอก
    5.9.1 ในกรณีที่มีการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์และใช้บริการภายนอก เพื่อสนับสนุนการทดสอบ ห้องปฏิบัติการต้องจัดซื้อและใช้บริการภายนอกที่มีคุณภาพเพียงพอ
    5.9.2 ต้องบันทึกและเก็บรักษารายละเอียดเกี่ยวกับวัสดุอุปกรณ์ที่จัดซื้อเพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้
 5.10 การตรวจติดตามคุณภาพภายในและทบทวนระบบบริหาร
จัดให้มีการตรวจติดตามคุณภาพภายใน ตามข้อกำหนดระบบบริหารคุณภาพและวิชาการ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ผู้บริหารห้องปฏิบัติการและบุคลากรหลักดำเนินการทบทวนระบบบริหาร โดยทบทวนตามข้อกำหนดของระบบบริหารคุณภาพ และจัดทำรายงานการประชุมทบทวนไว้เป็นหลักฐาน
6. การรับรอง
6.1 ห้องปฏิบัติการยื่นคำขอต่อสำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมหลักฐานและเอกสารต่าง ๆ ตามที่ระบุในเอกสาร 1 ของข้อกำหนดและเงื่อนไขการรับรองฉบับนี้
6.2 เจ้าหน้าที่ตรวจความครบถ้วนของเอกสาร และแจ้งให้ผู้ยื่นคำขอทราบ เพื่อชำระค่าใช้จ่ายตามอัตราที่กำหนดในเอกสาร 2 ของข้อกำหนดและเงื่อนไขการรับรองฉบับนี้
6.3 สำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการส่งตัวอย่างควบคุมคุณภาพ (check sample) ให้ผู้ยื่นคำขอ นำกลับไปตรวจวิเคราะห์เพื่อเปรียบเทียบผล (ถ้าจำเป็น)
6.4 เมื่อได้รับรายงานผลการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างควบคุมคุณภาพโดยองค์กรภายนอก หรือผลการทดสอบความชำนาญแล้ว สำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการจะแต่งตั้งคณะผู้ตรวจประเมิน
6.5 คณะผู้ตรวจประเมิน จะตรวจเอกสารต่าง ๆ ที่ได้รับ และจะไปตรวจประเมินเบื้องต้น (กรณีจำเป็น) ณ สถานที่ปฏิบัติการของผู้ขอรับรอง โดยจะแจ้งชื่อผู้ตรวจประเมิน วันและเวลา ให้ผู้ขอรับ การรับรองทราบล่วงหน้า
6.6 สำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการจะแจ้งผลการตรวจประเมินเบื้องต้น ให้ผู้ขอรับรองทราบ (กรณีมีการตรวจประเมินเบื้องต้น) หากมีข้อบกพร่องจากการตรวจประเมินเบื้องต้น ห้องปฏิบัติการต้องแก้ไขให้เรียบร้อยก่อนการ นัดหมายวันเวลาการตรวจประเมินจริง ณ สถานที่ปฏิบัติการ
6.7 เมื่อผลการตรวจประเมินจริงได้รับการแก้ไขข้อบกพร่องครบถ้วน (ยอมรับได้ตามเงื่อนไข) เจ้าหน้าที่ผู้ตรวจประเมิน และสำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ จะสรุปผล (การตรวจประเมิน) นำเสนอคณะกรรมการพิจารณา เพื่อเสนอกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ออกใบรับรองต่อไป
6.8 ใบรับรองมีอายุ 2 ปี นับจากวันที่ออกใบรับรอง
7. ข้อปฏบัติหลังได้รับการรับรอง
7.1ห้องปฏิบัติการจะต้องรักษาระบบบริหารคุณภาพและวิชาการให้เป็นไปตามข้อกำหนดและเงื่อนไข ตลอดเวลาที่ถือครองใบรับรอง
7.2 ห้องปฏิบัติการสามารถอ้างหรือแสดงว่าเป็นห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรอง เฉพาะการทดสอบที่ระบุไว้ในใบรับรองเท่านั้น
7.3 ต้องไม่นำผลการรับรองไปใช้ในทางที่จะทำให้เกิดความเสียหาย หรือทำให้เกิดความเข้าใจผิดในการได้รับการรับรอง
7.4 เมื่อถูกระงับชั่วคราว หรือเพิกถอนการรับรอง ต้องยุติการกล่าวอ้างหรือแสดงโดยวิธีการใดให้ผู้อื่นเข้าใจว่าเป็นห้อง ปฏิบัติการที่ได้รับการรับรอง
7.5 ต้องไม่กระทำการใดๆ ที่อาจทำให้เกิดการเข้าใจผิดว่ามีรายการทดสอบอื่นที่ไม่ได้รับการรับรองจาก สำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นรายการที่ได้รับการรับรอง
7.6 เมื่อห้องปฏิบัติการมีการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างจากที่ระบุไว้ในคำขอและ เอกสารประกอบการขอรับรองอาจจะต้องมีการไปตรวจประเมินซ้ำ ทั้งนี้ ห้องปฏิบัติการต้องแจ้งให้สำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ทราบทันที หรือไม่เกิน 15 วัน นับจากวันที่มีการเปลี่ยนแปลงได้แก่
    7.6.1 โครงสร้างองค์กร
    7.6.2 การเปลี่ยนแปลงผู้บริหารระดับสูง
    7.6.3 นโยบายและมาตรฐานปฏิบัติงานในเอกสารคุณภาพ
    7.6.4 บุคลากร เครื่องมืออุปกรณ์ สภาวะแวดล้อมในการทำงานที่กระทบต่อผลการทดสอบ
    7.6.5 ผู้มีอำนาจลงนามในใบรายงานผลการทดสอบ
    7.6.6 วิธีการทดสอบ
    7.6.7 เอกสารแสดงรายละเอียดระบบคุณภาพและดำเนินการ
    7.6.8 การเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ที่จะกระทบต่อความสามารถห้องปฏิบัติการ
7.7 ห้องปฏิบัติการต้องเก็บรักษาเอกสารที่เกี่ยวกับระบบบริหารคุณภาพและวิชาการ รวมทั้ง ผลการทดสอบไว้ไม่น้อยกว่า 2 ปี และ/หรือตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้สำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจสอบย้อนกลับได้
8. การเฝ้าระวัง
    สำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ จะตรวจเฝ้าระวังระบบบริหารคุณภาพและวิชาการ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หรือตามความจำเป็น หรือเหมาะสม โดยดำเนินการวิธีใดวิธีหนึ่ง หรือทั้งสองวิธี ดังนี้
8.1 ตรวจประเมินระบบบริหารคุณภาพและวิชาการของห้องปฏิบัติการทั้งหมดหรือบางส่วน ตามความเหมาะสม ณ สถานที่ปฏิบัติงาน
8.2 ขอผลการควบคุมคุณภาพ โดยองค์กรภายนอกหรือผลการทดสอบความชำนาญจากห้องปฏิบัติการ เพื่อใช้ประเมินความสามารถการทดสอบ
9. การต่ออายุใบรับรอง
    ห้องปฏิบัติการต้องยื่นขอต่ออายุใบรับรอง (ใบรับรองมีอายุ 2 ปี) โดยยื่นคำขอต่อสำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ อย่างน้อย 120 วัน ก่อนใบรับรองหมดอายุ เพื่อตรวจประเมินซ้ำ (Re-assessment)
10. การขยายขอบข่าย
    ห้องปฏิบัติการที่ผ่านการรับรองแล้ว สามารถยื่นขอขยายขอบข่ายการรับรองต่อสำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
สำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะพิจารณาขยายขอบข่ายการรับรองโดยดำเนินการวิธีใดวิธีหนึ่ง หรือทั้งสองวิธี ดังนี้
10.1 ตรวจประเมินระบบบริหารคุณภาพและวิชาการของห้องปฏิบัติการทั้งหมดหรือบางส่วน ตามความเหมาะสม ณ สถานที่ปฏิบัติงาน
10.2 ขอผลการควบคุมคุณภาพ โดยองค์กรภายนอกหรือผลการทดสอบความชำนาญจากห้องปฏิบัติการ เพื่อใช้ประเมินความสามารถการทดสอบ
11. การระงับชั่วคราว การเพิกถอน และการยกเลิกการรับรอง
11.1 การระงับการรับรองชั่วคราว
กรณีที่ห้องปฏิบัติการกระทำการใดที่เป็นการฝ่าฝืนนโยบายข้อกำหนด และเงื่อนไขการรับรองระบบตรวจสอบสารพิษตกค้างในผักสด ผลไม้สด ของสำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ จะพิจารณาให้ระงับการรับรองชั่วคราวจนกว่าจะมีการปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้อง ภายในระยะเวลาที่กำหนด
11.2 การเพิกถอนการรับรองดำเนินการเมื่อมีเหตุดังนี้
     11.2.1 กระทำ หรืองดเว้นการกระทำใดที่เป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนด และเงื่อนไขฉบับนี้
     11.2.2 ห้องปฏิบัติการที่ถูกระงับการรับรองชั่วคราวในเรื่องเดียวกัน 2 ครั้ง ในระยะเวลา 2 ปี ที่ได้รับการรับรอง
     11.2.3 ห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองแจ้งขอยกเลิกการรับรองต่อกรมวิทยาศาสตร์ การแพทย์เป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมส่งคืนใบประกาศนียบัตรรับรองแก่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
12. การอุทธรณ์
12.1 การอุทธรณ์ต่อข้อตัดสินใด ๆ ให้ยื่นเป็นลายลักษณ์อักษรต่อประธานคณะกรรมการอุทธรณ์ สามารถยื่นได้ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งผลการพิจารณาการถูกระงับชั่วคราว หรือถูกเพิกถอนการรับรอง
12.2 คำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ การรับรองระบบตรวจสอบสารพิษตกค้างในผักสด ผลไม้สด ให้เป็นที่สุด
12.3  ระหว่างรอผลการอุทธรณ์ ให้ถือว่าผลการพิจารณาเดิมยังมีผลการบังคับใช้อยู่
13. อื่น ๆ
13.1 ในกรณีที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมนโยบาย ข้อกำหนด เงื่อนไข การรับรองระบบตรวจสอบสารพิษตกค้างในผักสด ผลไม้สด หรือข้อกำหนดอื่น ๆ ที่สำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กำหนดจะมีการแจ้งให้ห้องปฏิบัติการทราบเพื่อปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้อง ภายในระยะเวลาที่กำหนด
13.2 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ไม่รับผิดชอบการกระทำใด ๆ ของห้องปฏิบัติการที่ได้กระทำไปโดยไม่ปฏิบัติตาม หรือฝ่าฝืนข้อกำหนด และเงื่อนไข หรือข้อกำหนดอื่น ๆ ที่สำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กำหนดไว้
13.3 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะประกาศรายชื่อห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองหรือระงับชั่วคราวใน เวบไซต์ ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อเผยแพร่ต่อไป
13.4   การขอรับแบบฟอร์มคำขอรับรอง และเอกสารเกี่ยวข้องติดต่อที่สำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ถนนติวานนท์ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี และตามเว็บไซต์ Download ได้จาก http://blqs.dmsc.moph.go.th/
รายการเอกสารยื่นขอรับรองระบบตรวจสอบสารพิษตกค้างในผักสด/ผลไม้สด
1. แบบคำขอรับรองระบบตรวจสอบสารพิษตกค้าง
2. แผนที่แสดงที่ตั้งของห้องปฏิบัติการ จำนวน 2 ชุด
3. หนังสือแสดงว่าเป็นผู้ได้รับมอบอำนาจให้เป็นผู้ดำเนินการยื่นขอ กรณีที่ไม่ใช่ผู้บริหารสูงสุดของห้องปฏิบัติการ
4. สำเนาบัตรประจำตัวและ/หรือบัตรเจ้าหน้าที่ของผู้ยื่นคำขอ
5. แบบฟอร์มยื่นคำขอรับรองระบบตรวจสอบสารพิษตกค้าง
6. แบบฟอร์มแสดงข้อมูลจำเพาะของส่วนที่ขอการรับรองระบบตรวจสอบสารพิษตกค้าง
7. เอกสารหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบฟอร์มแสดงข้อมูลจำเพาะของส่วนที่ขอการรับรอง
8. หนังสือแจ้งชื่อผู้มีหน้าที่ติดต่อประสานงานกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้โดยตรง
อัตราค่าใช้จ่าย การออกใบรับรองการมีระบบตรวจสอบสารพิษตกค้างในผักสด/ผลไม้สด
ค่าพิจารณาเอกสาร                                         1,000 บาท ต่อครั้ง
ค่าตรวจประเมิน (ประเมินเบื้องต้น, ประเมินจริง, ตรวจเฝ้าระวัง, ตรวจติดตาม
ตรวจประเมินเพื่อต่ออายุ , ตรวจประเมินเพื่อขยายขอบข่าย)
ผู้ตรวจประเมินด้านระบบ                                  1,500 บาท ต่อคนต่อวัน
ผู้ตรวจประเมินด้านวิชาการ                               1,500 บาท ต่อคนต่อวัน
ค่าใช้จ่ายการเดินทางและที่พักของผู้ตรวจประเมินตามอัตราค่าใช้จ่ายจริง
ค่าใบรับรอง                                                  1,000 บาท
(กรณีขอเพิ่มหรือทดแทนฉบับเดิม)                     500 บาท
ค่าตัวอย่างทดสอบความสามารถ (check sample) 1,000 บาท ต่อรายการ(test)/ชุด
ค่าต่ออายุใบรับรอง/ครั้ง                                  1,000 บาท ต่อครั้ง
ค่าขยายขอบข่าย                                           1,000 บาท ต่อรายการ(test)

Sorce : http://webdb.dmsc.moph.go.th

No comments:

Post a Comment